Wellington, Arthur Wellesley, 1ˢᵗ Duke of (1769–1852)

อาร์เทอร์ เวลส์ลีย์ ดุ๊กที่ ๑ แห่งเวลลิงตัน (พ.ศ. ๒๓๑๒–๒๓๙๕)

 อาร์เทอร์ เวลส์ลีย์ ดุ๊กที่ ๑ แห่งเวลลิงตัน เป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ๒ สมัย (ค.ศ. ๑๘๒๘–๑๘๓๐ และ ค.ศ. ๑๘๓๔) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (ค.ศ. ๑๘๓๔) รวมทั้งเป็นทหารและนักการเมืองเขาเข้ารับราชการในกองทัพอังกฤษเมื่อ ค.ศ. ๑๗๘๗ และถูกส่งไปประจำการในไอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์และอินเดียตามลำดับ เมื่อกลับมาประจำการในยุโรปเวลส์ลีย์ไปบัญชาการรบที่คาบสมุทรไอบีเรียใน ค.ศ. ๑๘๐๘ ในสงครามนโปเลียน (Napoleonic Wars ค.ศ. ๑๘๐๔–๑๘๑๕)* หลังฝรั่งเศสปราชัย เขาได้รับแต่งตั้งเป็นดุ๊กแห่งเวลลิงตัน และเป็นเอกอัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็มในการประชุมใหญ่แห่งเวียนนา (Congress of Vienna)* เมื่อจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ (Napoleon I)* กลับมามีอำนาจในสมัยร้อยวัน (Hundred Days)* อังกฤษและชาติพันธมิตรได้ร่วมกันทำสงครามต่อต้านฝรั่งเศสในยุทธการที่วอเตอร์ลู (Battle of Waterloo)* เวลส์ลีย์สามารถพิชิตกองทัพของจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ได้สำเร็จ ชัยชนะครั้งนี้สร้างชื่อให้เขาอย่างมาก ต่อมาเขาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและเป็นสมาชิกสภาขุนนาง

 เวลส์ลีย์เกิดเมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๗๖๙ ในตระกูลขุนนางเชื้อสายอังกฤษ-ไอริช ที่เมืองดับลิน (Dublin) ไอร์แลนด์ เขาเป็นบุตรคนที่ ๓ ในจำนวนพี่น้อง ๕ คนของการ์เร็ต เวสลีย์ เอิร์ลแห่งมอร์นิงตัน (Garret Wesley, Earl of Mornington) กับแอนน์ฮิลล์-เทรเวอร์ (Anne Hill-Trevor) บุตรีของไวส์เคานต์ดันแกนนอน (Viscount Dungannon) เขาเติบโตที่ดับลินและศึกษาที่โรงเรียนประจำท้องถิ่น ต่อมาย้ายมาเรียนที่โรงเรียนบราวน์ (Brown) ในเชลซี (Chelsea) ชานกรุงลอนดอน ระหว่าง ค.ศ. ๑๗๘๑–๑๗๘๔ เวลส์ลีย์เข้าศึกษาที่วิทยาลัยอีตัน (Eton College) อย่างไรก็ตาม ปัญหาการเงินหลังมรณกรรมของบิดาใน ค.ศ. ๑๗๘๑ ทำให้มารดาตัดสินใจพาครอบครัวอพยพจากอังกฤษไปพำนักที่นครบรัสเซลส์ (Brussels) เมื่อ ค.ศ. ๑๗๘๕ และเขายังได้เรียนภาษาฝรั่งเศสจนแตกฉาน ในปีต่อมาเขาเข้าศึกษาที่โรงเรียนทหารม้าฝรั่งเศส (French Royal Academy of Equitation) ที่เมืองอ็องเฌ (Angers) ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงปารีส

 ใน ค.ศ. ๑๗๘๗ เวลส์ลีย์รับราชการทหารในกรมทหารราบที่ ๗๓ ของกองทัพอังกฤษที่ประจำการในไอร์แลนด์ แต่ในปลายปีเขาก็ย้ายไปประจำการในกรมกองต่าง ๆ หลายแห่ง ขณะเดียวกันก็เริ่มเล่นการเมืองจนได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาสามัญประจำเมืองทริม (Trim) ในมณฑลมีท (Meath) ต่อมาในสงครามสหพันธมิตรครั้งที่ ๑ (First Coalition War) ระหว่าง ค.ศ. ๑๗๙๒–๑๗๙๗ เขาถูกส่งไปรบที่เขตฟลานเดอส์ (Flanders) ใน ค.ศ. ๑๗๙๔ เมื่อสงครามยุติลง เวลส์ลีย์กลับอังกฤษและได้เลื่อนยศเป็นพันโทหลังจากนั้นเขาเดินทางไปกัลกัตตา (Calcutta) ประเทศอินเดีย เมื่อเวลส์ลีย์ไปถึงกัลกัตตาในต้น ค.ศ. ๑๗๙๗ เขาได้ทราบว่าริชาร์ด เวสลีย์ ไวส์เคานต์เวลส์ลีย์ (Richard Wesley, Viscount Wellesley) พี่ชายได้รับแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการอังกฤษประจำอินเดียเวสลีย์จึงเปลี่ยนชื่อสกุลจากเวสลีย์ (Wesley) เป็นเวลส์ลีย์ (Wellesley) ในปีต่อมาตามบรรดาศักดิ์ของพี่ชาย ช่วงเวลาที่ใช้ชีวิตอยู่ในอินเดียเวลส์ลีย์ได้ร่วมรบหลายครั้งในการปราบปรามกบฏของเจ้าเมืองพื้นเมืองต่อบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ (British East India Company) ใน ค.ศ. ๑๗๙๘ เวลส์ลีย์เข้ารบในสงครามอังกฤษ-ไมซอร์ครั้งที่ ๔ (Fourth AngloMysore War) ซึ่งเป็นสงครามระหว่างบริษัทอินเดียตะวันออกกับราชอาณาจักรไมซอร์ หลังการรบสิ้นสุดเวลส์ลีย์ได้รับคำสั่งให้ดูแลพื้นที่รอบราชอาณาจักรไมซอร์และได้เลื่อนเป็นนายพลจัตวาใน ค.ศ. ๑๘๐๑ และพลตรีในปีต่อมา เมื่อเกิดสงครามอังกฤษ-มราฐา ครั้งที่ ๒ (Second Anglo-Maratha War) ระหว่างบริษัทอินเดียตะวันออกกับจักรวรรดิมราฐาซึ่งเป็นจักรวรรดิเดียวที่ยังคงมีอำนาจเพียงพอที่จะต่อต้านอิทธิพลของอังกฤษหลังราชอาณาจักรไมซอร์ล่มสลายใน ค.ศ. ๑๘๐๓ เวลส์ลีย์ได้ถูกส่งไปบัญชาการรบที่ป้อมมราฐาและอีกหลายแห่ง

 หลังประจำการในอินเดียได้ ๖ ปี เวลส์ลีย์กลับไปอังกฤษเมื่อค.ศ. ๑๘๐๕เขาสมรสกับแคเทอรีนพาเคนัม (Catherine Pakenham) ธิดาของเอดเวิร์ด พาเคนัมบารอนลองฟอร์ด (Edward Pakenham, Baron Longford) ทั้งสองมีบุตรด้วยกัน ๒ คน คือ อาร์เทอร์ (Arthur) และชาลส์ (Charles) เวลส์ลีย์ยังคงเป็นนักการเมืองสังกัดพรรคทอรี (Tory) และในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๘๐๖ ก็ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาสามัญ ปีต่อมาเขาไปเป็นหัวหน้าเลขานุการทำงานใต้การบังคับบัญชาของดุ๊กแห่งริชมอนด์ (Duke of Richmond) อุปราชอังกฤษประจำไอร์แลนด์ อย่างไรก็ตามเมื่ออังกฤษเตรียมบุกเดนมาร์กเพื่อตอบโต้การใช้ระบบภาคพื้นทวีป (Continental System)* ของจักรพรรดินโปเลียนที่๑ในสงครามสหพันธมิตรครั้งที่ ๔ (Forth Coalition War ค.ศ. ๑๘๐๖–๑๘๐๗) เวลส์ลีย์ถอนตัวออกจากวงการเมืองและเดินทางไปเดนมาร์กกับกองทัพในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๐๗ เขาบัญชาการรบในเคอเก (Køge) และมีชัยชนะอย่างงดงาม จึงได้เลื่อนยศเป็นพลโทในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๘๐๘ ต่อมาอีก ๓ เดือนเขาไปโปรตุเกสเพื่อเข้าร่วมในสงครามคาบสมุทรระหว่างอังกฤษ โปรตุเกส และสเปนกับฝรั่งเศส

 กองทัพอังกฤษภายใต้การบังคับบัญชาของเวลส์ลีย์มีชัยเหนือกองทัพฝรั่งเศสในยุทธการที่โรลีซา (Battle of Roliça) และยุทธการที่วีไมโร (Battle of Vimeiro) ในช่วงกลางเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๘๐๘ เวลส์ลีย์ยึดเมืองปอร์โตจากฝรั่งเศสคืนได้สำเร็จใน ค.ศ. ๑๘๑๐ เขาสร้างป้อมล้อมพื้นที่รอบกรุงลิสบอนเพื่อไม่ให้กองทัพฝรั่งเศสของจอมพล อังเดร มาซเซนา (André Masséna) เข้ายึดเมืองได้ ความสำเร็จทางการทหารเหล่านี้ทำให้เวลส์ลีย์ได้เป็นพลเอกในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๑๑ ในปีนั้นเขานำทหารยึดป้อมรอดริโก (Rodrigo) และบาดาโฆซ (Badajoz) คืนจากฝรั่งเศสสำเร็จ ป้อมทั้งสองตั้งอยู่บริเวณชายแดนระหว่างสเปนกับโปรตุเกส และเป็นด่านป้องกันไม่ให้ศัตรูบุกเข้ามารุกรานโปรตุเกสจากทางสเปนได้ เวลส์ลีย์จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นเคานต์แห่งวีไมโร (Count of Vimeiro)

 ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๑๒ เวลส์ลีย์มีชัยชนะต่อจอมพล ออกุสต์ มาร์มง (Auguste Marmont) ในยุทธการที่ซาลามังกา (Battle of Salamanca) ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของสเปน ชัยชนะครั้งนี้ทำให้อังกฤษรุกลึกเข้าไปในเขตสเปนและปลดปล่อยกรุงมาดริดจากการยึดครองของฝรั่งเศสได้สำเร็จเวลส์ลีย์จึงได้รับเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นมาร์ควิสแห่งเวลลิงตัน (Marquess of Wellington) และเป็นผู้บัญชาการรบในเขตสเปน ความพ่ายแพ้ของฝรั่งเศสครั้งนี้ส่งผลให้กองทัพของพระเจ้าโชแซฟ โบนาปาร์ต (Joseph Bonaparte)* แห่งสเปน พระเชษฐาในจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ต้องถอยหนีไปยังแคว้นบาเลนเซีย (Valencia) ทางตอนใต้ เวลลิงตันตอบโต้ด้วยการโจมตีบูร์โกส (Burgos) เมืองทางเหนือที่ฝรั่งเศสใช้เป็นเส้นทางลำเลียงเสบียง แต่ไม่สามารถยึดได้

 ใน ค.ศ. ๑๘๑๓ เวลลิงตันตั้งจุดส่งเสบียงขึ้นที่ซันตันเดร์ (Santander) เมืองริมฝั่งทะเลในแคว้นกันตาเบรีย (Cantabria) ทางตอนเหนือของสเปน และนำกองทัพผสมทหารอังกฤษ โปรตุเกส และสเปนบุกไปปะทะกับกองทัพของโชแซฟ โบนาปาร์ตในยุทธการที่วีตอเรีย (Battle of Vitoria) เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายนในการรบครั้งนี้ กองทัพฝรั่งเศสเป็นฝ่ายเสียเปรียบเนื่องจากจักรพรรดินโปเลียนที่๑ได้ถอนทหารส่วนหนึ่งกลับฝรั่งเศสเพื่อเสริมกองทัพหลักหลังจากที่ทรงปราชัยในการรบที่รัสเซีย เวลลิงตันมีชัยชนะอย่างเด็ดขาดและได้เป็นจอมพลหลังการรบสิ้นสุดลง หลังชัยชนะครั้งนี้เวลลิงตันนำทัพไล่ต้อนกองทัพฝรั่งเศสออกจากภาคเหนือของสเปนและยึดฝรั่งเศสตอนใต้สำเร็จในช่วงต้น ค.ศ. ๑๘๑๔ ในต้นเดือนเมษายนเขารุกตามกองทัพฝรั่งเศสไปจนปะทะกันในยุทธการที่ตูลูส (Battle of Toulouse) ทางฝรั่งเศสตอนใต้ แต่ก็ยึดเมืองไม่สำเร็จและยังสูญเสียทหารเป็นจำนวนมากอย่างไรก็ตาม ข่าวการสละราชบัลลังก์ของจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ เมื่อวันที่ ๔ เมษายน ค.ศ. ๑๘๑๔ หลังความพ่ายแพ้ต่อกองทัพสหพันธมิตรในยุทธการที่เมืองไลพ์ซิก (Battle of Leipzig)* หรือที่เรียกกันว่าสงครามปลดปล่อย (War of Liberation)* และในการรบ ๖ วัน รวมถึงข่าวการขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๘ (Louis XVIII)* ในอีก ๒ วันต่อมา ทำให้ฝรั่งเศสยอมลงนามในสัญญาสงบศึกเมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน สงครามคาบสมุทรจึงสิ้นสุดลงและเวลลิงตันได้รับแต่งตั้งเป็นดุ๊กแห่งเวลลิงตัน เมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๑๔

 เมื่อกลุ่มประเทศสหพันธมิตรมาประชุมกันที่กรุงเวียนนาเพื่อสร้างระเบียบทางการเมืองของยุโรปใหม่หลังสงครามนโปเลียน จนนำไปสู่ความร่วมมือแห่งยุโรป (Concert of Europe)* เวลลิงตันเป็นเอกอัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็มในการเจรจาสืบต่อจากไวส์เคานต์คาสเซิลเร (Viscount Castlereagh)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่เดินทางกลับอังกฤษในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๑๕ เวลลิงตันสนับสนุนไม่ให้สหพันธมิตรลงโทษฝรั่งเศสรุนแรงเกินไป เนื่องจากต้องการให้ฝรั่งเศสมีบทบาทในการถ่วงดุลอำนาจในยุโรปด้วย อย่างไรก็ตาม เวลลิงตันก็เข้าร่วมประชุมได้เพียงช่วงเวลาสั้น ๆ เนื่องจากจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ทรงหลบหนีจากที่คุมขังบนเกาะเอลบา (Elba) และทรงปกครองฝรั่งเศสอีกครั้งในช่วงสมัยร้อยวัน อังกฤษ รัสเซีย ออสเตรีย และปรัสเซียจึงรวมตัวต่อต้านจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ อีกครั้งในสงครามสหพันธมิตรครั้งที่ ๗ (Seventh Coalition War มีนาคม–กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๑๕) เวลลิงตันเป็นผู้บังคับบัญชากองทัพอังกฤษซึ่งประจำการอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงบรัสเซลส์ การรบเริ่มขึ้นเมื่อจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ทรงนำกองกำลังปีกขวาบุกโจมตีกองทัพปรัสเซียภายใต้การนำของจอมพลเกบฮาร์ด เลเบเรชท์ ฟอน บลือเชอร์ (Gebhard Leberecht von Blücher)* ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงบรัสเซลส์เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน เพื่อจะข้ามเข้าไปในเขตสหราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ (United Kingdom of the Netherlands) ในวันถัดมา จอมพลมีเชล เน (Michel Ney)* ได้นำกองกำลังปีกซ้ายจู่โจมทัพของเวลลิงตันในยุทธการที่กาเตรอบรา (Battle of Quatre Bras) เพื่อขัดขวางเขาเข้ารวมกำลังกับทัพของบลือเชอร์ในขณะที่จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑มีชัยเหนือบลือเชอร์ในการรบที่ลีญี (Battle of Ligny)

 อย่างไรก็ตาม สภาพอากาศที่เลวร้ายเมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน ทำให้ทั้ง ๒ ฝ่ายต้องเตรียมกำลังทัพให้พร้อมเพื่อการสู้รบที่ตำบลวอเตอร์ลูในแคว้นวัลโลเนีย (Wallonia) และนำไปสู่ยุทธการที่วอเตอร์ลูกองทัพของเวลลิงตันสามารถต้านการจู่โจมของกองทัพฝรั่งเศสได้ และเมื่อกองทัพของบลือเชอร์รวมเข้ากับกองทัพของเวลลิงตันสำเร็จ ฝรั่งเศสก็ถูกตีพ่ายจนต้องถอยร่นกลับไป เวลลิงตันและบลือเชอร์ตกลงกันว่าทัพปรัสเซียควรเป็นฝ่ายตามทัพฝรั่งเศสที่ถอยร่นไปก่อน ส่วนทัพอังกฤษจะตามไปในวันถัดไปในวันที่ ๒๐ มิถุนายน เวลลิงตันยกทัพเข้าไปในเขตฝรั่งเศสและไม่พบการขัดขวางใด ๆ เขาสั่งให้ทหารภายใต้บังคับบัญชาปฏิบัติต่อพลเรือนชาวฝรั่งเศสอย่างเป็นมิตร ในขณะที่ทหารของบลือเชอร์กลับปล้นสะดมและแย่งชิงอาหารจากพลเรือนชาวฝรั่งเศสในวันที่ ๒๑ มิถุนายน จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ เสด็จถึงกรุงปารีสและพบว่าไม่สามารถต้านทานกองทัพของศัตรูที่ติดตามรุกคืบมายังปารีสได้อีกต่อไป จึงทรงประกาศสละราชบัลลังก์เมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน รัฐบาลชั่วคราวภายใต้การนำของโชแชฟ ฟูเช (Joseph Fouché) อดีตเจ้ากรมตำรวจในสมัยจักรวรรดิฝรั่งเศสที่ ๑ (First Empire of France)* จึงเปิดการเจรจาสงบศึกกับเวลลิงตันและบลือเชอร์ในขณะที่ทั้งสองยังคงเดินทัพรุกคืบเข้ามาและมีชัยเหนือกองทัพฝรั่งเศสในวันที่ ๓ กรกฎาคม ในวันเดียวกันนั้น ทั้ง ๒ ฝ่ายพบกันที่ปราสาทแซงคลู (St. Cloud) นอกกรุงปารีสและลงนามในสนธิสัญญาเมืองแซงคลู (Convention of St. Cloud) ที่กำหนดให้จอมพลหลุยส์ นีโกลา ดาวู (Louis-Nicolas Davout) ผู้บังคับบัญชากองทัพฝรั่งเศสประกาศยอมแพ้ต่อสหพันธมิตรและย้ายกองทัพออกจากปารีส ในขณะที่ฝ่ายสหพันธมิตรต้องเคารพในสิทธิและทรัพย์สินของพลเรือนฝรั่งเศส

 หลังจากดาวูเคลื่อนกำลังออกไปเมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม เวลลิงตันและบลือเชอร์ก็ยาตราทัพเข้ากรุงปารีสในวันถัดมา พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๘ เสด็จถึงปารีสและขึ้นครองบัลลังก์อีกครั้ง จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ถูกเนรเทศไปยังเกาะเซนต์เฮเลนา (St. Helena) ทางตอนใต้ของมหาสมุทรแอตแลนติก ส่วนฝรั่งเศสถูกบีบให้ลงนามในสนธิสัญญาปารีส (Treaty of Paris)* ฉบับที่ ๒ เมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๑๕ โดยมีดินแดนเท่ากับดินแดนใน ค.ศ. ๑๗๙๐ และต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงคราม ทั้งให้ทหารฝ่ายสหพันธมิตรประจำการในประเทศเป็นเวลา ๕ ปี ซึ่งมีเวลลิงตันเป็นผู้บังคับบัญชา อย่างไรก็ตาม ใน ค.ศ. ๑๘๑๘ เมื่อหมดความจำเป็นที่จะต้องคงกำลังไว้ในฝรั่งเศสเขาจึงถอนทัพและเดินทางกลับอังกฤษเมื่อวันที่๒๖ ธันวาคมค.ศ. ๑๘๑๘ เมื่อถึงบ้านเกิดเวลลิงตันได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้ากรมสรรพาวุธ (Master-General of the Ordnance) ซึ่งทำให้เขามีอำนาจควบคุมหน่วยทหารปืนใหญ่หน่วยแพทย์ ป้อม และการขนส่งต่าง ๆ และไม่ต้องอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของผู้บัญชาการทหารบก ในปีต่อมาเขาได้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการแห่งพลีมัท(Governor of Plymouth) ซึ่งมีหน้าที่ดูแลเขตตะวันตกของอังกฤษและใน ค.ศ. ๑๘๒๗ เวลลิงตันได้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกและเป็นเจ้ากรมหอคอยแห่งลอนดอน (Constable of the Tower) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่สำคัญในการดูแลพระคลังมหาสมบัติและป้อมปราการเพื่อป้องกันเมืองหลวง เวลลิงตันครองตำแหน่งนี้จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตใน ค.ศ. ๑๘๕๒

 ในต้น ค.ศ. ๑๘๒๘ พระเจ้าจอร์จที่ ๔ (George IV)* ทรงให้เวลลิงตันจัดตั้งรัฐบาลขึ้นเนื่องจากเฟรเดอริก จอห์น รอบินสัน ไวส์เคานต์ก็อดริชที่ ๑ (Frederick John Robinson, 1ˢᵗ Viscount Goderich) ผู้นำรัฐบาลผสมลาออกเพราะปัญหาขัดแย้งเรื่องการให้เสรีภาพแก่พวกคาทอลิก แม้เวลลิงตันและเซอร์รอเบิร์ต พีล (Robert Peel)* รัฐมนตรีมหาดไทยจะไม่สนับสนุนเรื่องการให้สิทธิทางการเมืองและเสรีภาพในการนับถือศาสนากับพวกคาทอลิก แต่คนทั้งสองก็วิตกเรื่องการเกิดความวุ่นวายในไอร์แลนด์ซึ่งส่งผลกระทบต่ออังกฤษ นอกจากนี้ แดเนียลโอคอนเนลล์ (Daniel O’Connell)* ชาวไอริช คาทอลิก สมาชิกสภาสามัญจากมณฑลแคลร์ (Claire) ก็เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลอังกฤษ เพราะการที่เขานับถือคาทอลิกทำให้ไม่สามารถเข้าไปนั่งในสภาสามัญได้ ทั้งเวลลิงตันและพีลตระหนักว่าชาวไอริชคาทอลิกส่วนใหญ่สนับสนุนโอคอนเนลล์อย่างมาก และการปฏิเสธโอคอนเนลล์ไม่ให้ทำหน้าที่ในสภาสามัญอาจก่อให้เกิดการจลาจลใหญ่ในไอร์แลนด์ได้ ทั้งสองจึงพยายามโน้มน้าวพระเจ้าจอร์จที่ ๔ สมาชิกสภาขุนนางและสมาชิกส่วนใหญ่ของพรรคทอรีให้สนับสนุนร่างพระราชบัญญัติเลิกกีดกันคริสต์ศาสนิกชนนิกายโรมันคาทอลิก (Catholic Emancipation Act)* ที่เสนอต่อสภา จนท้ายที่สุดร่างกฎหมายฉบับนี้ก็ผ่านทั้งสภาสามัญและสภาขุนนางโดยประกาศเป็นกฎหมายเมื่อวันที่ ๑๓ เมษายน ค.ศ. ๑๘๒๙ อย่างไรก็ตาม ผู้นับถือคาทอลิกยังคงไม่มีสิทธิในการสืบราชบัลลังก์อังกฤษหรือดำรงตำแหน่งกษัตริย์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ประธานศาลสูงสุด (Lord Chancellor) และผู้บัญชาการทหารสูงสุดในไอร์แลนด์ (Lord Lieutenant of Ireland) รวมทั้งไม่มีสิทธิในการเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด เคมบริดจ์และเดอรัมอีกด้วย

 แม้พระราชบัญญัติเลิกกีดกันคริสต์ศาสนิกชนนิกายโรมันคาทอลิกจะสะท้อนความเป็นผู้นำที่เข้มแข็งทั้งของเวลลิงตันและพีลในการยืนหยัดทำหน้าที่เพื่อสิ่งที่ตนคิดว่าถูกต้อง จนเวลลิงตันได้รับฉายาว่า “ดุ๊กเหล็ก” (Iron Duke) แต่ได้สร้างปัญหาความแตกร้าวเพิ่มมากขึ้นในหมู่สมาชิกพรรคทอรีและทำให้ความนิยมในตัวเขาและพีลลดลงอย่างมากการเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม ค.ศ. ๑๘๓๐ พรรคทอรีได้เสียงข้างมากในสภาสามัญและเวลลิงตันยังคงเป็นผู้นำในการจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศ อย่างไรก็ตามระบบการเลือกตั้งที่ไม่เหมาะสมเนื่องจากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในแต่ละเขตแตกต่างกันมาก และข้อกำหนดในการเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งก็ต่างกันในแต่ละเขต พรรควิกจึงเรียกร้องให้ปฏิรูประบบการเลือกตั้ง เวลลิงตันต่อต้านการปฏิรูประบบการเลือกตั้งส่งผลให้สมาชิกพรรควิกที่เคยชื่นชอบเขาที่ผลักดันร่างพระราชบัญญัติเลิกกีดกันคริสต์ศาสนิกชนนิกายโรมันคาทอลิกเลิกสนับสนุนเขา ความนิยมจึงตกต่ำลงอีก ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๑๘๓๐ รัฐสภาลงมติไม่ไว้วางใจเวลลิงตัน เขาจึงต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ชาลส์ เกรย์เอิร์ลเกรย์ที่ ๒ (Charles Grey, 2ᶰᵈ Earl Grey)* สมาชิกพรรควิกที่สนับสนุนการปฏิรูปการเลือกตั้งขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน

 ใน ค.ศ. ๑๘๓๑พรรควิกได้เสนอร่างพระราชบัญญัติปฏิรูประบบการเลือกตั้งต่อสภาสามัญ แต่ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ผ่านรัฐสภาเพราะสมาชิกส่วนใหญ่ของพรรคทอรีซึ่งรวมทั้งเวลลิงตันคัดค้าน อย่างไรก็ตาม ในการเสนอร่างพระราชบัญญัติปฏิรูประบบการเลือกตั้งเป็นครั้งที่ ๓ ใน ค.ศ. ๑๘๓๑ แม้สภาสามัญจะมีมติเห็นชอบกับร่างกฎหมายฉบับนี้ แต่สภาขุนนางพยายามใช้มาตรการหลายอย่างเพื่อเปลี่ยนสาระสำคัญของร่างกฎหมาย ประเด็นการปฏิรูปการเลือกตั้งทำให้การเมืองอังกฤษวุ่นวายจนเกรย์ลาออก พระเจ้าวิลเลียมที่ ๔ (William IV)* โปรดให้เวลลิงตันจัดตั้งรัฐบาลขึ้นใหม่ แต่เขาก็ไม่สามารถทำได้เพราะปัญหาขัดแย้งทางการเมืองทั้งในและนอกสภาขยายตัวรุนแรงเกินกว่าจะควบคุม เกรย์จึงกลับมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง โดยพระเจ้าวิลเลียมที่ ๔ ทรงยินยอมที่จะแต่งตั้งขุนนางฝ่ายวิกเพิ่มเติมตามที่เกรย์เคยทูลเสนอ เวลลิงตันพยายามโน้มน้าวให้สมาชิกพรรคทอรีในสภาขุนนางเลิกต่อต้านร่างพระราชบัญญัติปฏิรูประบบการเลือกตั้ง ร่างกฎหมายจึงผ่านสภาและประกาศใช้เป็นกฎหมายที่รู้จักกันว่า พระราชบัญญัติปฏิรูประบบการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาครั้งใหญ่ (Great Reform Bill)* ค.ศ. ๑๘๓๒

 ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๓๔ เมื่อพระเจ้าวิลเลียมที่ ๔ ทรงปลดวิลเลียม แลมบ์ ไวส์เคานต์ เมลเบิร์นที่ ๒ (William Lamb, 2ᶰᵈ Viscount Melbourne)* ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพราะไม่พอพระทัยเรื่องการปฏิรูปของพรรควิก และโปรดให้เวลลิงตันมาดำรงตำแหน่งอีกครั้ง เวลลิงตันปฏิเสธและกราบทูลแนะนำให้พีลดำรงตำแหน่งแทน โดยมีเขาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอย่างไรก็ตาม รัฐบาลชุดนี้มีอายุเพียง ๑๐๐ วันเนื่องจากพีลไม่มีเสียงข้างมากในรัฐสภา ผู้แทนพรรควิกต่างร่วมมือกันออกเสียงไม่รับร่างกฎหมายหลายฉบับ

 เมื่อพีลกลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๔๑ เวลลิงตันได้เป็นรัฐมนตรีลอย ประธานสภาขุนนาง และผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพอังกฤษ ต่อมา เมื่อเกิดทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ (Great Famine)* ในไอร์แลนด์ใน ค.ศ. ๑๘๔๕ ที่ทำให้ผู้คนล้มตายและอพยพออกจากไอร์แลนด์กว่า ๑ ล้านคน รัฐบาลของพีลเสนอร่างพระราชบัญญัติยกเลิกกฎหมายข้าว (Corn Laws)* ที่ใช้มาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๘๑๕ เพราะเห็นว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ทุพภิกขภัยรุนแรงขึ้นและเป็นกฎหมายที่กำหนดอัตราภาษีนำเข้าข้าวสูงเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ผลิตข้าวในประเทศ เวลลิงตันมีบทบาทสำคัญในการโน้มน้าวสมาชิกในสภาขุนนางให้ออกเสียงรับร่างพระราชบัญญัติจนผ่านการพิจารณาจากสภาขุนนางในวันที่ ๒๕ มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๔๖ อย่างไรก็ตาม การยกเลิกกฎหมายข้าวครั้งนี้ทำให้เกิดการแตกแยกในหมู่สมาชิกพรรคทอรีอย่างหนัก สี่วันหลังจากที่สภาขุนนางให้ความเห็นชอบพีลจึงต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และในปีเดียวกันนั้นเวลลิงตันก็ได้ลาออกจากตำแหน่งทางการเมืองทุกตำแหน่ง เหลือเพียงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด

 อาร์เทอร์ เวลส์ลีย์ ดุ๊กที่ ๑ แห่งเวลลิงตัน ถึงแก่อสัญกรรมด้วยอาการเส้นโลหิตในสมองแตกเฉียบพลันที่ปราสาทวัลมาร์ (Walmer Castle) ใกล้ช่องแคบอังกฤษ เมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน ค.ศ. ๑๘๕๒ รวมอายุได้ ๘๓ ปี ศพเขาถูกนำไปยังกรุงลอนดอนและรัฐบาลจัดงานรัฐพิธีให้อย่างสมเกียรติเมื่อวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๕๒ โดยมีประชาชนเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมากร่างของเขาบรรจุไว้ที่มหาวิหารเซนต์ปอล (St. Paul’s Cathedral) ถัดจากฮอเรชิโอ เนลสัน ไวส์เคานต์ เนลสัน (Horatio Nelson, Viscount Nelson)* รัฐบุรุษคนสำคัญอีกคนหนึ่งของอังกฤษ.



คำตั้ง
Wellington, Arthur Wellesley, 1ˢᵗ Duke of
คำเทียบ
อาร์เทอร์ เวลส์ลีย์ ดุ๊กที่ ๑ แห่งเวลลิงตัน
คำสำคัญ
- กฎหมายข้าว
- การประชุมใหญ่แห่งเวียนนา
- การรบที่ลีญี
- ความร่วมมือแห่งยุโรป
- ทุพภิกขภัยครั้งใหญ่
- นโปเลียนที่ ๑
- เน, มีเชล
- เนลสัน, ฮอเรชิโอ เนลสัน ไวส์เคานต์
- พรรคทอรี
- พรรควิก
- พระราชบัญญัติปฏิรูประบบการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาครั้งใหญ่
- พระราชบัญญัติเลิกกีดกันคริสต์ศาสนิกชนนิกายโรมันคาทอลิก
- พีล, เซอร์รอเบิร์ต
- พีล, รอเบิร์ต
- เมลเบิร์นที่ ๒, วิลเลียม แลมบ์ ไวส์เคานต์
- ยุทธการที่กาเตรอบรา
- ยุทธการที่ซาลามังกา
- ยุทธการที่ตูลูส
- ยุทธการที่เมืองไลพ์ซิก
- ยุทธการที่โรลีซา
- ยุทธการที่วอเตอร์ลู
- ยุทธการที่วีตอเรีย
- ยุทธการที่วีไมโร
- ระบบภาคพื้นทวีป
- เวลส์
- สงครามคาบสมุทร
- สงครามนโปเลียน
- สงครามปลดปล่อย
- สงครามสหพันธมิตรครั้งที่ ๑
- สงครามสหพันธมิตรครั้งที่ ๔
- สงครามสหพันธมิตรครั้งที่ ๗
- สงครามอังกฤษ-ไมซอร์ครั้งที่ ๔
- สนธิสัญญาปารีส
- สมัยร้อยวัน
- สัญญาสงบศึก
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1769–1852
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๓๑๒–๒๓๙๕
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
คัททิยากร ศศิธรามาศ
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-